วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตรวจพิสูจน์

อาวุธปืน
คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืน
             ห้ามทำความสะอาดปืน หรือล้างลำกล้องปืน หรือใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใดสอดใส่ในลำกล้องปืน
             ถ้าปืนของกลางมีกระสุนปืน หรือปลอกกระสุนปืนบรรจุอยู่ภายใน ให้นำออกเสียก่อน
             ห้ามทดลองยิงปืนของกลาง
             ถ้ามีโลหิตอยู่ ให้ผึ่งลมให้แห้งเท่านั้นก่อนบรรจุหีบห่อ
             ถ้าหากมีกล่องบรรจุกระสุนปืนของเดิมอยู่ ให้นำส่งด้วย
             ส่งกระสุนปืนทั้งหมดไปตรวจพิสูจน์ ห้ามแบ่งส่งเพียงบางส่วน แต่ถ้ามีจำนวนมากไม่สะดวกต่อการนำส่ง ให้แจ้ง พฐก. ศพฐ หรือ พฐ.จว. แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจพิสูจน์ต่อไป

ข้อปฏิบัติกรณีมีการยิงกันขึ้น
             เก็บปลอกกระสุนปืน ลูกกระสุนปืน ส่ง พฐก. หรือ ศพฐ. เพื่อทราบชนิด ขนาดของอาวุธปืนที่ใช้ยิงก่อน โดยไม่ต้องรอยึดอาวุธปืนต้องสงสัยได้ก่อน
             เมื่อได้อาวุธปืนต้องสงสัยแล้ว จึงส่งเพิ่มเติม เพื่อทราบว่า ปลอกกระสุนปืน ลูกกระสุนปืนที่ส่งมา ใช้ยิงมาจากปืนต้องสงสัยหรือไม่
             ห้ามมิให้มีการทดลองยิงปืนต้องสงสัย เพื่อเก็บลูกกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืนส่งให้ พฐก. หรือ ศพฐ. การยิงเปรียบเทียบเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
             บันทึกของกลางไปตรวจพิสูจน์
             ๑. แจ้งข้อเท็จจริงของคดีโดยละเอียด
             ๒. แจ้งรายละเอียดของกลางให้ครบถ้วน
             ๓. แจ้งจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจน
             ๔. แจ้งชื่อและหมายเลขโทรศัพท์พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อความสะดวกในการติดต่อ
             ๕. แจ้งชนิด ขนาด ยี่ห้อ เครื่องหมายทะเบียนและเลขหมายประจำปืน และกระสุนปืน
             ๖. แจ้งชื่อบริษัทผู้ผลิต ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ปรากฏบนกระสุนปืน
              -  กรณีพบกระสุนปืน มีรอยเข็มแทงชนวนปรากฏอยู่ให้แจ้งไว้ด้วยว่า พบที่ใด และเป็นกระสุนนัดใด หรือพบอยู่ในลำกล้องของปืนกระบอกใด
              -  ถ้าต้องการสอบถามเกี่ยวกับเครื่องหมายทะเบียนหรือเลขหมายประจำปืน ให้แนบสำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) มาด้วย (ถ้ามี)

วิธีทำเครื่องหมายบนอาวุธปืน เพื่อให้จำได้ถูกต้อง
             ทำเครื่องหมาย หรือชื่อย่อ ไว้ที่โครงปืนและลำกล้องปืน(ภายนอก)
             อย่าทำเครื่องหมายไว้ในที่ จะลบเลือนได้ง่าย
วิธีทำเครื่องหมายบนกระสุนปืน เพื่อให้จำได้ถูกต้อง
              ใช้เหล็กแหลมทำเครื่องหมายหรือชื่อย่อไว้ที่ข้างกระสุนปืนที่มีรอยเข็มแทงชนวน
การบรรจุหีบห่อ และการนำส่งอาวุธปืน
              ต้องบรรจุในกล่อง หรือห่อให้เรียบร้อย ส่วนกระสุนปืนให้บรรจุในกล่อง ซองพลาสติก หรือซองกระดาษอย่างหนาแน่นให้เรียบร้อย
ลูกกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน (ที่ผ่านการยิงมาแล้ว)
คำแนะนำโดยทั่วไป
            ระวังไม่ให้เกิดรอยขูดขีดหรือบุบสลายที่ลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน
            ห้ามล้าง เช็ด ขัด ถู หรือทำความสะอาดลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน
            ถ้ามีโลหิตติดอยู่ให้ผึ่งลมให้แห้งเท่านั้น ก่อนบรรจุหีบห่อ
            บันทึกการส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์
             ๑. แจ้งข้อเท็จจริงของคดีโดยละเอียด
             ๒. แจ้งรายละเอียดของกลางให้ครบถ้วน
             ๓. แจ้งจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจน
             ๔. แจ้งชื่อและหมายเลขโทรศัพท์พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนั้นๆ เพื่อความสะดวก ในการติดต่อ
             ๕. แจ้งขนาดที่แน่นอน หรือขนาดโดยประมาณ
             ๖. แจ้งตำหนิที่เด่นของลูกกระสุนปืนหรือปลอกกระสุนปืน รวมทั้งชื่อบริษัทผู้ผลิต ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายอื่นใดที่ปรากฏบนลูกกระสุนปืนหรือปลอกกระสุนปืน (ถ้ามี)
              -  ถ้าพบปลอกกระสุนปืนให้บันทึกไว้ด้วยว่า ปลอกกระสุนปืนใด พบที่ปืนกระบอกใด ถ้าปืนมีหลายลำกล้องให้บันทึกด้วยว่า พบในรังเพลิงของลำกล้องใด
              -  ถ้าต้องการทราบเกี่ยวกับวิถีกระสุน ให้ทำแผนที่สังเขป และส่งภาพถ่ายแสดงบริเวณที่พบ (ถ้ามี)
              -  แนบภาพถ่ายลูกกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนมาประกอบด้วย

วิธีทำเครื่องหมายเพื่อให้จำได้ถูกต้อง
              ใช้เหล็กแหลมทำเครื่องหมาย หรือชื่อย่อที่ท้ายลูกกระสุนปืนทุกลูก หรือบริเวณปากปลอกกระสุนปืนด้านทุกปลอก (โดยหลีกเลี่ยงมิให้ทำลายบริเวณตำหนิพิเศษต่างๆ)
การบรรจุหีบห่อ และการนำส่ง
          บรรจุในกล่อง ซองพลาสติก หรือซองกระดาษอย่างหนาปิดผนึกให้เรียบร้อย

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ลายมือเขียน

การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ลายมือเขียน
การเตรียมเอกสารส่งตรวจพิสูจน์
                จัดส่งเอกสารของกลาง และเอกสารตัวอย่างที่เป็นต้นฉบับจริง ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถส่งต้นฉบับจริงได้ ให้ระบุสาเหตุที่ไม่สามารถส่งได้ในหนังสือนำส่ง (หนังสือนำส่งของกลางตรวจพิสูจน์ให้ทำตาม “แบบ กอส. ๐๑")
               ระบุเอกสารให้ชัดเจนว่า เอกสารใดเป็นเอกสารของกลาง และเอกสารตัวอย่าง และมีจำนวนกี่ฉบับ
               ระบุตำแหน่งของสิ่งที่ต้องการตรวจพิสูจน์ในเอกสารของกลางและจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจน เช่น กรณีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความ ให้ระบุว่า
               “ลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความ ตรงบริเวณ............ ในเอกสารของกลาง กับตัวอย่างลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความของ………… จะเป็นลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความของบุคคลคนเดียวกันใช่หรือไม่"
               หรือ กรณีการตรวจร่องรอยการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ระบุว่า
               “เอกสารของกลางตรงบริเวณ........... จะมีร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ ถ้ามีข้อความเดิมอ่านได้ว่าอย่างไร"
                จัดส่งเอกสารตัวอย่างเพื่อใช้ในการตรวจเปรียบเทียบกับเอกสารของกลาง ดังนี้
                -  จัดหาลายมือชื่อ หรือลายมือเขียนข้อความ ที่เคยเขียนไว้เดิม
                -  จัดหาลายมือชื่อหรือลายมือเขียนข้อความของบุคคลที่ต้องการตรวจพิสูจน์ ที่มีระยะเวลาของการเขียนใกล้เคียงกันกับเอกสารของกลาง
                -  ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นลายมือของบุคคลใด และอยู่ตรงบริเวณใดของเอกสาร
                -  จัดให้เจ้าของลายมือหรือบุคคลที่เชื่อถือได้ลงลายมือชื่อรับรองลงบนพื้นที่ว่างของเอกสารตัวอย่างทุกแผ่น
                -  จัดให้เขียนตัวอย่างลายมือชื่อหรือลายมือเขียนข้อความต่อหน้าพนักงานสอบสวน
                -  จัดเตรียมอุปกรณ์และลักษณะการเขียนให้ใกล้เคียงกับเอกสารของกลางให้มากที่สุด เช่น กระดาษ ปากกา ลักษณะการเขียนแบบหวัด แบบบรรจง ท่าทางการเขียน เป็นต้น
                -  จัดให้บุคคลที่ต้องการตรวจเปรียบเทียบ กรอกข้อมูลส่วนบุคคลด้วยตนเอง ลงใน "แบบ กอส.๐๒" โดยให้มีรายละเอียด ดังนี้
                (๑)  ชื่อ-ชื่อสกุล
                (๒)  อายุ และ วัน เดือน ปี เกิด
                (๓)  อาชีพ
                (๔)  ประวัติการศึกษา
                (๕)  ถนัดเขียนด้วยมือข้างใด และปัจจุบันใช้มือข้างใดเขียน
                (๖)  สามารถเขียนได้ทั้งมือซ้ายและมือขวาหรือไม่
                (๗)  มีโรคประจำตัวหรือไม่
                (๘)  เคยได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณมือข้างที่ถนัดหรือไม่ เมื่อใด
                (๙)  ท่านใช่ลายมือชื่อกี่แบบ(ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน) และให้เขียนตัวอย่างลายมือชื่อแต่ละแบบ แบบละ ๓ ตัวอย่าง
                -  จัดให้บุคคลที่ต้องการตรวจเปรียบเทียบ เขียนตัวอย่างลายมือชื่อแบบเดียวกันกับลายมือชื่อในเอกสารของกลาง หรือเขียนข้อความเดียวกันกับข้อความที่ต้องการตรวจพิสูจน์ (ให้เขียนตามคำบอก อย่าให้เห็นเอกสารของกลาง) ลงใน "แบบ กอส.๐๓" ประมาณ ๕-๑๐ หน้ากระดาษ
               -  จัดให้บุคคลที่เขียนตัวอย่าง และพนักงานสอบสวน ลงลายมือชื่อรับรองทุกแผ่น