วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เขม่าปืนที่มือ

คำแนะนำโดยทั่วไป
               -  ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่มือผู้สงสัยหรือผู้ต้องหา หรือส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปยัง พฐก. ศพฐ. หรือ พฐ.จว.  แล้วแต่กรณี เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่มือโดยเร็วที่สุด ภายใน ๖ ชั่วโมง นับแต่มีการยิงปืน
              -  ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่ศพ หรือแจ้งให้ พฐก. ศพฐ. หรือ พฐ.จว. แล้วแต่กรณี เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่มือโดยเร็วที่สุด ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง นับแต่มีการยิงปืน
             -  ก่อนทำการเก็บเขม่าปืนที่มือ ห้ามพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำความสะอาด หรือล้างมือของผู้ที่จะถูกเก็บเขม่าปืนที่มือ กรณีศพให้ใช้ถุงพลาสติกสวมมือศพไว้จนกว่าจะเก็บเขม่าปืน
             -  เจ้าหน้าที่ผู้ทำการเก็บเขม่าปืนที่มือต้องทำความสะอาดมือทั้งสองข้าง ทุกครั้งก่อนทำการเก็บเขม่าปืน

การเตรียมอุปกรณ์
              -  จัดหาซองพลาสติกชนิดรูดปิดปากได้ จำนวน ๕ ซอง แต่ละซองให้เขียนข้อความดังนี้
                  ซองที่ ๑  -  กรดตัวอย่าง        
                  ซองที่ ๒  -  หลังมือขวา                         ซองที่ ๓   -  ฝ่ามือขวา
                  ซองที่ ๔  -  หลังมือซ้าย                         ซองที่ ๕  -  ฝ่ามือซ้าย
             -  จัดหาสำลีพันปลายแท่งพลาสติก โดยตัดปลายข้างหนึ่งทิ้งไปเป็นจำนวน ๕ ก้าน
             -  จัดหากรดไนตริก เข้มข้น ๕ % จำนวน ๑ ขวด

วิธีการเก็บเขม่าปืนที่มือ
             -  หยดกรดประมาณ ๔-๕ หยด บนก้านสำลีที่ ๑ แล้วบรรจุใส่ซองที่ ๑ เพื่อเป็นตัวอย่าง
             -  หยดกรดประมาณ ๔-๕ หยด บนก้านสำลีที่ ๒ แล้วเช็ดที่หลังมือขวาโดยเช็ดตั้งแต่บริเวณข้อมือไปจนถึงปลายนิ้วหรือจากปลายนิ้วถึงข้อมือ โดยการหมุนหรือกลิ้งสำลีไปทางเดียวกัน ห้ามเช็ดกลับไปกลับมา แล้วบรรจุในซองที่ ๒
              -  สำหรับก้านที่ ๓, ๔ และ ๕ ให้เช็ดที่ฝ่ามือขวา  หลังมือซ้าย และฝ่ามือซ้าย โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีการข้างต้น แล้วบรรจุใส่ซองที่ ๓, ๔ และ ๕ ตามลำดับ

การบรรจุหีบห่อ และการนำส่ง
              -  นำซองสำลีที่ชุบกรดตัวอย่างและที่เช็ดจากมือของผู้ยิงปืนรวมทั้งหมด ๕ ซอง ใส่รวมกันในซองรายการ ชนิดพับสี่

การจ่าหน้าซอง  ให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้
              ๑.  สถานีตำรวจ                                         ๒.  ชื่อ - สกุล  ผู้ถูกเก็บเขม่า
              ๓.  อาชีพ                                                   ๔.  มือที่ถนัด
              ๕.  ชนิด ขนาด ของอาวุธปืน                     ๖.  วัน เวลา ที่เกิดเหตุ
              ๗.  วัน เวลา ที่เก็บเขม่า                             ๘.  สถานที่เก็บเขม่า
              ๙.  ลายมือชื่อผู้ถูกเก็บเขม่า                      ๑๐. ลายมือชื่อผู้เก็บเขม่า

ตัวอย่างการตั้งประเด็นคำถามการตรวจพิสูจน์
               ๑.  มีเขม่าปืน ติดอยู่ที่มือของ ....... หรือไม่
               ๒.  เสื้อของกลางมีเขม่าดินปืนติดอยู่หรือไม่ และมีระยะยิงเท่าใด