วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การตรวจวัตถุที่ถูกยิง

ภาพถ่ายการกระจายของลูกกระสุนปราย
           -  บริเวณที่เขม่าปืนติดอยู่บาดแผล ที่ถูกยิง
           -  เสื้อผ้า หรือวัตถุอื่นใด ที่ถูกยิง
           -  รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ถูกยิง
คำแนะนำโดยทั่วไป
            -  การถ่ายภาพ แสดงมาตราส่วนด้วย
            -  การถ่ายภาพ ไว้หลาย ๆ ด้าน เพื่อแสดงรายละเอียดให้มากที่สุด
            -  ห้ามซักล้างหรือทำความสะอาด เสื้อผ้าที่ถูกยิง
            -  ระวังอย่าให้เสื้อผ้า หรือวัตถุเปรอะเปื้อนเพิ่มขึ้น
            -  ถ้าเสื้อผ้า หรือวัตถุ เปื้อนโลหิต ให้ผึ่งลมให้แห้งเท่านั้น
            -  ห้ามบรรจุเสื้อผ้าที่เปื้อนโลหิตลงในถุงพลาสติก หลังผึ่งลมแห้งแล้ว ให้ห่อด้วยกระดาษเท่านั้น
            -  กรณีรถถูกยิง ให้รักษาสภาพบริเวณที่ถูกยิงไว้เหมือนเดิม รอยกระสุนปืนทะลุกระจกรถยนต์ให้ใช้เทปยึดให้ติดกันไว้ อย่างทะลวงกระจกทิ้ง ใช้รถยกหรือลาก อย่าขับ
            -  ถ่ายภาพรถ บริเวณที่ถูกยิงและรอยลูกกระสุนผ่าน
 บันทึกการส่งของกลางไปตรวจพิสูจน์
            -  แจ้งข้อเท็จจริงของคดีโดยละเอียด
            -  แจ้งรายละเอียดของกลางให้ครบถ้วน
            -  แจ้งจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจน
            -  แจ้งชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อความสะดวกในการติดต่อ
            -  บรรยายประกอบภาพให้ชัดเจน เช่น ระยะห่างระหว่างรูของลูกกระสุนปรายเท่าใด บริเวณที่เขม่าดินปืนปรากฎอยู่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเท่าใด บาดแผลกว้าง ยาวเท่าใด ตรงกับรูเสื้อผ้าหรือไม่
             -  ส่งสำเนารายงานชันสูตรของแพทย์ด้วย (ถ้ามี)
             -  แจ้งยี่ห้อ แบบ ชนิด ลักษณะ สีของเสื้อผ้า หรือวัตถุ
             -  แจ้งจำนวนรูกระสุนที่เสื้อผ้าหรือวัตถุ พร้อมให้บรรยายตำแหน่งของรูกระสุนปืน
             -  แจ้งลักษณะบาดแผลที่ร่างกายผู้ถูกยิง มีจำนวนกี่รูและขนาดโดยประมาณเท่าใด ตำแหน่งตรงกับรูกระสุนบนเสื้อผ้าหรือไม่ หรือส่งภาพถ่ายบาดแผลพร้อมแสดงมาตราส่วนด้วย
             -  แจ้งรายละเอียดของรถของกลางให้ครบถ้วน เช่น ชนิด ยี่ห้อ สี หมายเลขทะเบียน เป็นต้น
วิธีทำเครื่องหมาย เพื่อให้จำได้ถูกต้อง
             -  ทำเครื่องหมายหรือชื่อย่อ พร้อมเซ็นต์ชื่่อไว้หลังภาพทุกภาพ
             -  ทำเครื่องหมายหรือชื่อย่อ ที่ขอบเสื้อผ้าหรือวัตถุ โดยให้ห่างจากบริเวณที่ถูกยิง
การบรรจุหีบห่อ และการนำส่ง
             -  ภาพถ่าย ให้บรรจุในกล่อง ซองพลาสติก หรือซองกระดาษอย่างหนาให้เรียบร้อย
             -  เสื้อผ้า ให้ห่อหรือใส่ถุงกระดาษ ถ้ามีหลายชิ้นให้ห่อ หรือใส่ถุงแยกกัน แล้วระบุว่ามาจากของผู้ใด บรรจุรวมในกล่องให้เรียบร้อย
             -  ส่งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไปที่ พฐก. ศพฐ. หรือ พฐ.จว. แล้วแต่กรณี
             -  หากมีความจำเป็นไม่อาจนำส่งรถของกลางได้ ให้แจ้ง พฐก. ศพฐ. หรือ พฐ.จว. แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจพิสูจน์ต่อไป
ตัวอย่างการตั้งประเด็นคำถาม
              -  รถยนต์ของกลาง มีร่องรอยถูกลูกกระสุนปืนยิงหรือไม่  และวิถีกระสุนเป็นอย่างไร
              -  เสื้อของกลาง มีร่องรอยถูกลูกกระสุนปืนยิงหรือไม่ และมีวิถีกระสุนเป็นอย่างไร

เขม่าปืนที่มือ

คำแนะนำโดยทั่วไป
               -  ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่มือผู้สงสัยหรือผู้ต้องหา หรือส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปยัง พฐก. ศพฐ. หรือ พฐ.จว.  แล้วแต่กรณี เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่มือโดยเร็วที่สุด ภายใน ๖ ชั่วโมง นับแต่มีการยิงปืน
              -  ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่ศพ หรือแจ้งให้ พฐก. ศพฐ. หรือ พฐ.จว. แล้วแต่กรณี เป็นผู้เก็บเขม่าปืนที่มือโดยเร็วที่สุด ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง นับแต่มีการยิงปืน
             -  ก่อนทำการเก็บเขม่าปืนที่มือ ห้ามพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำความสะอาด หรือล้างมือของผู้ที่จะถูกเก็บเขม่าปืนที่มือ กรณีศพให้ใช้ถุงพลาสติกสวมมือศพไว้จนกว่าจะเก็บเขม่าปืน
             -  เจ้าหน้าที่ผู้ทำการเก็บเขม่าปืนที่มือต้องทำความสะอาดมือทั้งสองข้าง ทุกครั้งก่อนทำการเก็บเขม่าปืน

การเตรียมอุปกรณ์
              -  จัดหาซองพลาสติกชนิดรูดปิดปากได้ จำนวน ๕ ซอง แต่ละซองให้เขียนข้อความดังนี้
                  ซองที่ ๑  -  กรดตัวอย่าง        
                  ซองที่ ๒  -  หลังมือขวา                         ซองที่ ๓   -  ฝ่ามือขวา
                  ซองที่ ๔  -  หลังมือซ้าย                         ซองที่ ๕  -  ฝ่ามือซ้าย
             -  จัดหาสำลีพันปลายแท่งพลาสติก โดยตัดปลายข้างหนึ่งทิ้งไปเป็นจำนวน ๕ ก้าน
             -  จัดหากรดไนตริก เข้มข้น ๕ % จำนวน ๑ ขวด

วิธีการเก็บเขม่าปืนที่มือ
             -  หยดกรดประมาณ ๔-๕ หยด บนก้านสำลีที่ ๑ แล้วบรรจุใส่ซองที่ ๑ เพื่อเป็นตัวอย่าง
             -  หยดกรดประมาณ ๔-๕ หยด บนก้านสำลีที่ ๒ แล้วเช็ดที่หลังมือขวาโดยเช็ดตั้งแต่บริเวณข้อมือไปจนถึงปลายนิ้วหรือจากปลายนิ้วถึงข้อมือ โดยการหมุนหรือกลิ้งสำลีไปทางเดียวกัน ห้ามเช็ดกลับไปกลับมา แล้วบรรจุในซองที่ ๒
              -  สำหรับก้านที่ ๓, ๔ และ ๕ ให้เช็ดที่ฝ่ามือขวา  หลังมือซ้าย และฝ่ามือซ้าย โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีการข้างต้น แล้วบรรจุใส่ซองที่ ๓, ๔ และ ๕ ตามลำดับ

การบรรจุหีบห่อ และการนำส่ง
              -  นำซองสำลีที่ชุบกรดตัวอย่างและที่เช็ดจากมือของผู้ยิงปืนรวมทั้งหมด ๕ ซอง ใส่รวมกันในซองรายการ ชนิดพับสี่

การจ่าหน้าซอง  ให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้
              ๑.  สถานีตำรวจ                                         ๒.  ชื่อ - สกุล  ผู้ถูกเก็บเขม่า
              ๓.  อาชีพ                                                   ๔.  มือที่ถนัด
              ๕.  ชนิด ขนาด ของอาวุธปืน                     ๖.  วัน เวลา ที่เกิดเหตุ
              ๗.  วัน เวลา ที่เก็บเขม่า                             ๘.  สถานที่เก็บเขม่า
              ๙.  ลายมือชื่อผู้ถูกเก็บเขม่า                      ๑๐. ลายมือชื่อผู้เก็บเขม่า

ตัวอย่างการตั้งประเด็นคำถามการตรวจพิสูจน์
               ๑.  มีเขม่าปืน ติดอยู่ที่มือของ ....... หรือไม่
               ๒.  เสื้อของกลางมีเขม่าดินปืนติดอยู่หรือไม่ และมีระยะยิงเท่าใด

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเก็บโลหิตและอสุจิ

โลหิตหรือวัตถุที่มีโลหิตติดอยู่
            โลหิตสด :
                  -  ให้ใช้สำลีพันปลายไม้ ซับหรือป้ายคราบโลหิตแล้วผึ่งลมให้แห้ง ห้ามตากแดด หรือใช้ความร้อนสูงให้คราบโลหิตแห้ง
                 -  หากพบคราบโลหิตสดในสถานที่ต่างกันต้องแยกดำเนินการเก็บและหีบห่อ เพื่อป้องกันไม่ให้คราบโลหิตนั้นปะปนซึ่งกันและกัน
           คราบโลหิตที่ยังเปียกชื้น :  ผึ่งลมให้แห้งสนิทก่อนหีบห่อเพื่อนำส่งไปตรวจพิสูจน์
           คราบโลหิตแห้ง :
                 -  ถ้าติดอยู่ที่ของกลางที่ส่งได้ ก็ให้ส่งทั้งวัตถุของกลางนั้นไปทั้งชิ้น หรือตัดวัตถุพยานเฉพาะส่วนที่มีรอยคราบต้องสงสัยส่งตรวจพิสูจน์
                 -  ถ้าทำดังกล่าวไม่ได้ ให้ใช้ก้านสำลีพันปลายไม้ ชุบน้ำกลั่นพอหมาด ๆ เช็ดถูเอาคราบโลหิตออกมาผึ่งให้แห้งสนิทก่อน
                 -  การตรวจคราบโลหิตตามร่างกายผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย หรือผู้เสียหาย ให้รีบส่งบุคคลดังกล่าวไปตรวจหาคราบรอยโลหิตนั้นโดยเร็ว ส่วนการตรวจหา DNA จากบุคคลให้เจาะเลือดใส่ EDTA (ทำโดยผู้ประกอบโรคศิลป์) หรือใช้สำลีพันปลายไม้เก็บเยื่อบุข้างแก้ม หรือถอนเส้นผมให้ได้รากประมาณ ๑๕ เส้น
                 -  การตรวจหาคราบโลหิตที่ยานพาหนะ ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการเก็บเองได้ ก็ให้จัดส่งยานพาหนะหรือขอตัวผู้ชำนาญการไปทำการตรวจพิสูจน์
คราบอสุจิ
         คราบอสุจิสด  :   ให้เก็บเช่นเดียวกันกับโลหิตสด
         คราบอสุจิที่ติดอยู่กับวัตถุของกลางที่มีสภาพเปียกชื้น :   ให้เก็บเช่นเดียวกันกับ คราบโลหิตที่ยังเปียกชื้น
         คราบอสุจิแห้ง  :
                -  หากติดอยู่ที่วัตถุของกลางที่สามารถส่งได้ก็ส่งวัตถุของกลางนั้นไปทั้งชิ้น
                -  วัตถุของกลางที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้ใช้ของมีคมขูดหรือแซะคราบส่งไปตรวจพิสูจน์ หากไม่สามารถกระทำดังกล่าวได้ ให้ใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำกลั่นเช็ดรอบรอยคราบอสุจิ ผึ่งให้แห้งเสียก่อน
เส้นผม เส้นขน ตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
                -  เส้นผม เส้นขน ที่พบในที่เกิดเหตุหรืออาวุธหรือหีบห่อแยกไว้ต่างหาก
                -  เส้นผม เส้นขน ของผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา หรือผู้เสียหาย ต้องบรรจุหีบห่อแยกไว้แต่ละบุคคล (เก็บโดยการถอน)
                -  เส้นผม เส้นขน ควรบรรจุหีบห่อซึ่งเมื่อเปิดแล้ว จะพบของกลางโดยง่าย ไม่สูญหายในการนำส่งและนำออกตรวจพิสูจน์
การตั้งประเด็นคำถาม
            ๑. โลหิต  -  มีคราบโลหิตมนุษย์ติดอยู่ที่ของกลางหรือไม่ และมี DNA แบบใด
            ๒. คราบอสุจิ  -  รอยคราบหรือสิ่งที่สงสัย ที่ติดอยู่ที่ของกลาง เป็นคราบอสุจิหรือไม่
            ๓. เส้นผมหรือเส้นขน
                       -  เส้นผม และเส้นขนของกลาง เป็นเส้นผมหรือเส้นขนของมนุษย์หรือไม่
                       -  เส้นผม และเส้นขนของกลางที่ตรวจพบ เป็นเส้นผมเส้นขนของผู้ต้องสงสัย หรือของผู้ถูกประทุษร้ายหรือไม่

เครื่องจับเท็จ

            เครื่องจับเท็จ คือ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการตรวจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางสรีระที่ไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้ ซึ่งบันทึกออกมาในรูปกราฟที่สามารถนำมาประเมินผลวิเคราะห์ว่า บุคคลใดพูดจริงหรือพูดเท็จ
            หลักการทำงาน อาศัยหลักการที่ว่า อารมณ์และร่างกายมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
อุปกรณ์เครื่องจับเท็จประกอบด้วย
            1.  Pneumograph tupe  ใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของระบบหายใจ
            2.  Blood pressure cuff  ใช้วัดความเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต
            3.  Galvanic skin reflex (GSR)  ใช้วัดความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง
            4.  อุปกรณ์บันทึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเป็นถุงลมยางติดตั้งไว้ที่พนักพิงเก้าอี้
หลักการวิเคราะห์
             เพื่อบันทึกข้อมูล ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ การหายใจ และการเปลี่ยนแปลงความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง จะบันทึกไปพร้อม ๆ กันและต่อเนื่อง และแสดงผลออกมาบนกระดาษกราฟ โดยกลไกที่เรียกว่า Kymograph แล้วนำข้อมูลซึ่งแสดงเป็นรูปกราฟนั้นมาวิเคราะห์ว่าบุคคลนั้นพูดจริงหรือพูดเท็จ
วิธีดำเนินการในการจับเท็จ
              1.  การเตรียมข้อมูลเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการนัดหมายนำผู้ต้องสงสัยมาเข้าเครื่องจับเท็จ ผู้ชำนาญจำเป็นที่จะต้องทราบข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ที่เข้าทดสอบ รวมทั้งคำให้การของผู้เสียหายและพยาน แผนที่สถานที่เกิดเหตุเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญควรจะมี ซึ่งจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าใจรายละเอียดในคดีได้ดีขึ้น การทราบข้อมูลเบื้องต้นเป็นประโยชน์ในการสัมภาษณ์ก่อนเข้าเครื่องและการสัมภาษณ์หลังการเข้าเครื่องจับเท็จ
              2.  การสัมภาษณ์ก่อนเข้าเครื่อง (Pretest interview) ใช้เวลาประมาณ 30 - 110 นาที จุดมุ่งหมายให้ผู้เชี่ยวชาญสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ และเพื่อตั้งคำถามที่จะใช้เข้าเครื่อง
                  -  สังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของท่าทางตลอดจนเสียงพูด และสายตาของการตอบคำถามในขณะสัมภาษณ์
                  -  การตั้งคำถามที่จะเข้าเครื่อง
             3.  การทดสอบด้วยเครื่องจับเท็จ โดยมีการทดสอบตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งอาจพบปัญหาแล้ว แต่ละบุคคล
             4.  การวิเคราะห์ผล เป็นการแปรผลกราฟ
ประโยชน์ของเครื่องจับเท็จ
             -  ตรวจสอบคำให้การของพยาน ผู้ต้องสงสัย ผู้เสียหาย ผู้เข้าทดสอบ
             -  สามารถแยกผู้บริสุทธิ์ออกจากผู้ต้องสงสัย
             -  ในบางครั้งทำให้ผู้กระทำความผิดยอมรับสารภาพ
             -  สามารถกำหนดแนวทางการสืบสวนได้อย่างถูกต้อง ทำให้คลี่คลายคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น

การหีบห่อและห่วงโซ่วัตถุพยาน

การบรรจุหีบห่อ
            ผู้เก็บรวบรวมวัตถุพยาน ต้องเลือกชนิดของหีบห่อที่บรรจุให้เหมาะสม
            วิธีการปิดผนึกที่ถูกต้อง ต้องเขียนชื่อผู้ปิดผนึก วันที่ทำการปิดผนึก ลงบนวัตถุที่ใช้ปิดผนึกให้เรียบร้อย
            มีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุพยาน ที่หีบห่อให้ครบถ้วนชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่า การครอบครองวัตถุพยาน (Chain of  Custody) ได้กระทำอย่างถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้

ห่วงโซ่วัตถุพยาน
            วัตถุพยานที่พบในที่เกิดเหตุ สามารถนำไปใช้ตรวจพิสูจน์ยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาในชั้นศาลได้ การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุพยาน จึงจำเป็นต้องได้รับการบันทึกอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ศาลมั่นใจว่า เป็นวัตถุพยานที่ตรวจเก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุจริง ไม่มีการเปลี่ยนวัตถุพยานเพื่อใส่ร้ายหรือช่วยเหลือผู้ต้องหา
            รวมถึงต้องมีรายละเอียดกระบวนการจัดการวัตถุพยาน ต้องทราบว่า ใคร ทำอะไรกับวัตถุพยานนั้นบ้าง ให้ศาลตรวจสอบได้อย่างไม่มีข้อสงสัย เช่น พบมีดในที่เกิดเหตุ จะต้องมีการบรรจุภาชนะที่แข็งแรงปลอดภัย จะต้องมีการบันทึกว่า วัตถุพยาน "มีด" นั้น ตรวจเก็บจากสถานที่เกิดเหตุ จนถึงการแปรค่า ลายนิ้วมือแฝง และ DNA โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นั้นเป็นมีดเล่มเดิมที่ผ่านขั้นตอนการตรวจเก็บ

การตรวจสถานที่เกิดเหตุตามระบบ FBI

                ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุตามระบบ FBI  จะมีลักษณะการทำงานเป็นทีม โดยในทีมจะมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ประกอบด้วย
                1. หัวหน้าทีม (Team Leader)
                2. ช่างภาพ (Photographer)
                3. เจ้าหน้าที่สเก็ตซ์ภาพ (Sketch Preparer)
                4. เจ้าหน้าที่บันทึกและเก็บรักษาวัตถุพยาน (Evidence Recorder/Custodian)
                5. เจ้าหน้าที่ค้นหาพยานหลักฐาน (Evidence Recovering Personal)
                6. ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (Specialists)
               ซึ่งในขั้นตอนการตรวจสถานที่เกิดเหตุนั้น จะใช้หลัก  12  ขั้นตอน ประกอบด้วย
               ขั้นตอนที่ 1  การเตรียมตัว (Preparation)  เป็นการตรวจความสอบความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ   และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงการประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
               ขั้นตอนที่ 2  ใกล้ถึงสถานที่เกิดเหตุ (Approach Scene)  เป็นการเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายในทุก ๆ ด้าน  เช่น จิตใจ เอกสาร อุปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมมากที่สุดในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
               ขั้นตอนที่ 3  การรักษาความปลอดภัยและการป้องกันสถานที่เกิดเหตุ (Secure and Protect  Scene)  เมื่อถึงสถานที่เกิดเหตุ ต้องพิจารณาขอบเขตในการป้องกันสถานที่เกิดเหตุเพื่อให้ครอบคลุมวัตถุพยานทั้งหมด โดยต้องไม่ลืมถึงความปลอดภัยในสถานที่เกิดเหตุ รวมถึงจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นในสถานที่เกิดเหตุ
               ขั้นตอนที่ 4  การตรวจสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้น (Initiate   Preliminary  Survey)  เป็นการตรวจสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้น โดยหัวหน้าทีม เพื่อกำหนดรูปแบบวิธีการของทีมให้เหมาะสมกับสภาพของสถานที่เกิดเหตุรวมถึงการบันทึกสภาพทั่ว ๆ ไป
              ขั้นตอนที่ 5  ประเมินพยานหลักฐานที่พบในสถานที่เกิดเหตุ (Evaluate Physical Evidence  Possibility)  เป็นการประเมินถึงพยานหลักฐานที่อาจพบในสถานที่เกิดเหตุ  เพื่อจะได้ครอบคลุมในการค้นหาวัตถุพยานและป้องกันการทำลายวัตถุพยาน
              ขั้นตอนที่ 6  เตรียมบรรยายสรุปสภาพของสถานที่เกิดเหตุ (Prepare Narrative Description)  บรรยายสภาพทั่วไปและลักษณะพิเศษของสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งการบันทึกอาจทำได้หลายวิธี เช่น บันทึกเสียง  การเขียน หรือบันทึกวิดีโอ