วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

จัดเรียงบทความ

การเก็บวัตถุพยานส่งตรวจพิสูจน์
               -  การตรวจสถานที่เกิดเหตุตามระบบ FBI
               -  การหีบห่อและห่วงโซ่วัตถุพยาน
               -  การตรวจวัตถุที่ถูกยิง
               -  เขม่าปืนที่มือ
               -  การส่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตรวจพิสูจน์
               -  การเก็บโลหิตและอสุจิ
               -  การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ลายมือเขียน
               -  การส่งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ตรวจพิสูจน์
               -  เครื่องจับเท็จ

การชันสูตรพลิกศพ
               -  การชันสูตรพลิกศพตายโดยผิดธรรมชาติ
               -  การชันสูตรพลิกศพในคดีวิสามัญฆาตกรรม

วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การชันสูตรพลิกศพตายโดยผิดธรรมชาติ

การชันสูตรพลิกศพ 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              กฎหมายให้มีการชันสูตรพลิกศพ ใน ๒ กรณี คือ
              -  เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใด
                  ๑. ตายโดยผิดธรรมชาติ
                  ๒. ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
                       ตายโดยผิดธรรมชาติ คือ
                          -  ฆ่าตัวตาย
                          -  ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
                          -  ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
                          -  ตายโดยอุบัติเหตุ
                          -  ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
                      ผู้มีหน้าที่แจ้งความ คือ
                          -  สามี ภริยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตาย
                          -  ผู้อื่น ซึ่งได้พบศพในที่ซึ่งไม่มีบุคคลข้างต้นอยู่ในที่นั้นด้วย
                      หน้าที่ของผู้พบศพ คือ
                          -  เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบศพนั้นเอง เท่าที่จะทำได้
                          -  ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด
                      ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพ ได้แก่  (ม.๑๔๘)
                         >>  พนักงานสอบสวน แห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่
                         >>  แพทย์ ดังต่อไปนี้ ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าไม่มี หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
                      ให้แพทย์ลำดับถัดไปปฏิบัติหน้าที่ตามลำดับ (ม.๑๕๐ วรรคแรก)
                          -  แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา
                          -  แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ
                          -  แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
                          -  แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชน หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
                      ให้แพทย์ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

บุคคลที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ทราบ (ม.๑๕๐ วรรคสอง)
                         -  สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตาย อย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้

การทำบันทึกและทำรายงาน
                         -  ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าว ทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และ
                         -  ให้แพทย์ดังกล่าว ทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง
                         -  ถ้าแพทย์มีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๓๐ วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
                         -  รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ
                         -  ให้ พงส. แห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
                         -  ถ้า พงส. มีความจำเป็นให้ขยายเวลาไปได้ โดยให้ขอขยายเวลาออกไปยังผู้บังคับการที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้น พิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ตามเหตุผลและความจำเป็น และให้ พงส. บันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในบันทึกการสอบสวน  (คำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖)

ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็น  (ม.๑๕๔)
                         -  ทำเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
                         -  ผู้ตายคือใคร  ตายที่ไหน  เมื่อใด
                         -  ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่า ใคร หรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเท่าที่จะทราบได้

ในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา  (ม.๑๕๐ วรรคแรก)
                         -  ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการ เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว และ
                         -  ให้พนักงานอัยการ ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา ๑๕๖

ความผิดเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๙
             ในกรณี สามี ภริยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตาย ตลอดถึงผู้อื่นซึ่งได้พบศพ(กรณีไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในที่นั้น) ที่รู้เรื่องการตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น อาจมีความผิดฐาน "ละเลยไม่กระทำหน้าที่ (๑) เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทำได้ (๒) ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด"  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ ทวิ
             ความผิดฐาน "กระทำการใด ๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่ จำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันอันตรายแก่อนามัยของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น" ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ป.อ. มาตรา ๑๙๙
             ความผิดฐาน "ลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพหรือส่วนของศพ เพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุการตาย" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เอกสารอ้างอิง
             (๑) หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส ๐๐๑๕/ว ๑๙๗ ลง ๘ มิ.ย.๒๕๕๘ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรม
             (๒)  หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๕๐๑๔ ลง ๒๑ พ.ย.๒๕๕๖ เรื่อง แนวทางปฏิบัติการสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท
             (๓)  หนังสือที่ ตช. ๐๐๑๖/๕๐๓๑ ลง ๒๕ พ.ย.๒๕๔๖ เรื่อง การสอบสวนคดีอาญาในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
             (๔)  กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวน พ.ศ.๒๕๕๓

(Update : เมื่อ ๒๗ ส.ค.๒๕๕๘)

การชันสูตรพลิกศพในคดีวิสามัญฆาตกรรม

คดีวิสามัญฆาตกรรมและไม่ใช่คดีวิสามัญฆาตกรรม  (ม.๑๕๐ วรรคสาม)
              คดีวิสามัญฆาตกรรม หมายถึง  คดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตาย ถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตายโดยเจตนา
              ส่วนคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตาย ตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่และมีเจตนาฆ่า ไม่ใช่คดีวิสามัญฆาตกรรม
              สำนวนการสอบสวนที่จะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย
              ๑. สำนวนชันสูตรพลิกศพ ที่ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนตาม ป.วิ อ. มาใช้โดยอนุโลม)
              ๒. สำนวนคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย และคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตาย ตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
              ๓. สำนวนคดีที่กล่าวหาว่าผู้ตายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๓๘ อัยการจังหวัด ตาม ป.วิ อาญา ม.๑๔๓ เป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจาก สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตาม ป.วิ อาญา ม.๓๙ (๑) อัยการจังหวัดอาจจะรอการออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวิสามัญฆาตกรรมของอัยการสูงสุดก่อน

การทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ
              การทำสำนวนคดีที่เจ้าพนักงานถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ และ มาตรา ๒๘๙  ซึ่งเจ้าพนักงานจะอ้างการป้องกันตัวตาม ป.อ. มาตรา ๖๘  และในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน เท่านั้น มีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย หากส่งให้อัยการจังหวัดฯ ออกคำสั่งย่อมไม่ชอบ ทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด หากเป็นการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ หรือประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑ เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม ไม่อยู่ในอำนาจอัยการสูงสุด หากแต่อยู่ในอำนาจอัยการจังหวัดฯ
               ถ้าหากในชั้นสอบสวน เจ้าพนักงานผู้ฆ่ามิได้เจตนาฆ่า แต่เจตนาทำร้ายร่างกาย หรือมิได้อ้างว่าตนปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แม้ความจริงเหตุที่ผู้ตายถูกฆ่านั้นเพราะต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานจึงฆ่าตายอันเป็นการฆ่าเพราะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ก็ตาม กรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่ต้องส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา คงส่งไปให้อัยการจังหวัดเท่านั้น เพราะในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานผู้นั้นมิได้อ้างว่าการฆ่าดังกล่าวได้กระทำไปตามการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เช่นนี้เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการจังหวัด ก็เป็นการชอบแล้ว แม้ภายหลังผู้มีอำนาจจัดการแทนจะยกเหตุดังกล่าวขึ้น ต่อสู้ในชั้นศาลว่า พนักงานสอบสวนไม่สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดจึงเป็นการไม่ชอบไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๐๐/๒๕๓๒)
              การสอบสวนอาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงในข้อเท็จจริงและกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม ทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้กับฝ่ายผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ทำให้ตาย และฝ่ายผู้ตาย จึงให้พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ หากหน่วยงานใดไม่มีพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญให้ รอง ผบก. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนการสอบสวน ทั้ง ๓ สำนวน ด้วยตนเองโดยเคร่งครัด และให้ ผบก.หรือผู้รักษาการแทนเป็นหัวหน้าพนักพนักงานสอบสวน ตาม  ม.๑๘ วรรคสี่ และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ม.๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ในคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ของตน และให้ดำเนินการแจ้งพนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ม.๑๕๐ เมื่อสำนวนเสร็จให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ตร. เพื่อพิจารณา และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔ ต่อไป
               ในกรณีคดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๖ ข้อ ๔  ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้น ถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน พร้อมทั้งความเห็นไปด้วย ตามคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๓๖ ลง ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖
               ถ้าปรากฏว่าฝ่ายปกครองได้เข้าควบคุมการสอบสวนแล้ว กรณีนี้ ได้มีหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส ๐๐๑๕/ว ๑๙๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรม (คลิกที่นี่) ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติ เนื่องจากเห็นว่าการส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมเสนออัยการสูงสุดเมื่อพิจารณาสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๓ วรรคสาม ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าควบคุมการสอบสวนโดยเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕ วรรคท้าย และมาตรา ๑๔๐  ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา
               ส่วนคดีที่พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ อาจใช้อำนาจทำการสอบสวนและมีความเห็นทางคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๔๐ พนักงานสอบสวนนั้นก็จะเป็นผู้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาเองโดยตรง
               ในการสอบสวนพนักงานอัยการต้องร่วมชันสูตรพลิกศพ ร่วมทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและการยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ตามลำดับ และต้องเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๕/๑ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ได้วางแนวทางให้พนักงานการถือปฏิบัติตามหนังสือที่ อส ๐๐๒๓/ ว ๑๓๑ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง การเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและสำนวนสอบสวนและมีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำสำนวนการสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓ ความในข้อ ๕ กำหนดว่าหากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ตรงกันพนักงานอัยการอาจทำความเห็นของตนรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วยก็ได้ พนักงานอัยการจึงย่อมต้องตรวจสอบอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เพราะอาจเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ หากอัยการสูงสุดรับสำนวนไว้พิจารณาไม่ว่าจากผู้ใดย่อมส่งผลถึงอำนาจสั่งคดีของอัยการสูงสุด ถ้าพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจและไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ อาจทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ และถ้าหากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการจังหวัด อัยการพิเศษฝ่าย หรืออธิบดีอัยการ พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๒ แล้วแต่กรณี ให้ส่งสำนวนวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวคืนพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนเสนออัยการสูงสุดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๓ วรรค ๓