วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การชันสูตรพลิกศพตายโดยผิดธรรมชาติ

การชันสูตรพลิกศพ 
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
              กฎหมายให้มีการชันสูตรพลิกศพ ใน ๒ กรณี คือ
              -  เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใด
                  ๑. ตายโดยผิดธรรมชาติ
                  ๒. ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน
                       ตายโดยผิดธรรมชาติ คือ
                          -  ฆ่าตัวตาย
                          -  ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
                          -  ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
                          -  ตายโดยอุบัติเหตุ
                          -  ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
                      ผู้มีหน้าที่แจ้งความ คือ
                          -  สามี ภริยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตาย
                          -  ผู้อื่น ซึ่งได้พบศพในที่ซึ่งไม่มีบุคคลข้างต้นอยู่ในที่นั้นด้วย
                      หน้าที่ของผู้พบศพ คือ
                          -  เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบศพนั้นเอง เท่าที่จะทำได้
                          -  ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด
                      ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพ ได้แก่  (ม.๑๔๘)
                         >>  พนักงานสอบสวน แห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่
                         >>  แพทย์ ดังต่อไปนี้ ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าไม่มี หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
                      ให้แพทย์ลำดับถัดไปปฏิบัติหน้าที่ตามลำดับ (ม.๑๕๐ วรรคแรก)
                          -  แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา
                          -  แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐ
                          -  แพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
                          -  แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชน หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
                      ให้แพทย์ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

บุคคลที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ทราบ (ม.๑๕๐ วรรคสอง)
                         -  สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตาย อย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้

การทำบันทึกและทำรายงาน
                         -  ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าว ทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และ
                         -  ให้แพทย์ดังกล่าว ทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง
                         -  ถ้าแพทย์มีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ครั้งละไม่เกิน ๓๐ วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
                         -  รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ
                         -  ให้ พงส. แห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
                         -  ถ้า พงส. มีความจำเป็นให้ขยายเวลาไปได้ โดยให้ขอขยายเวลาออกไปยังผู้บังคับการที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้น พิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ตามเหตุผลและความจำเป็น และให้ พงส. บันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในบันทึกการสอบสวน  (คำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖)

ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็น  (ม.๑๕๔)
                         -  ทำเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
                         -  ผู้ตายคือใคร  ตายที่ไหน  เมื่อใด
                         -  ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่า ใคร หรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดเท่าที่จะทราบได้

ในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา  (ม.๑๕๐ วรรคแรก)
                         -  ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการ เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว และ
                         -  ให้พนักงานอัยการ ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ตามมาตรา ๑๕๖

ความผิดเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๙
             ในกรณี สามี ภริยา ญาติ มิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตาย ตลอดถึงผู้อื่นซึ่งได้พบศพ(กรณีไม่มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในที่นั้น) ที่รู้เรื่องการตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น อาจมีความผิดฐาน "ละเลยไม่กระทำหน้าที่ (๑) เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทำได้ (๒) ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด"  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ ทวิ
             ความผิดฐาน "กระทำการใด ๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่ จำเป็นต้องกระทำเพื่อป้องกันอันตรายแก่อนามัยของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น" ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ป.อ. มาตรา ๑๙๙
             ความผิดฐาน "ลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพหรือส่วนของศพ เพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุการตาย" ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เอกสารอ้างอิง
             (๑) หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส ๐๐๑๕/ว ๑๙๗ ลง ๘ มิ.ย.๒๕๕๘ เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรม
             (๒)  หนังสือ ตร. ที่ ๐๐๑๑.๒๕/๕๐๑๔ ลง ๒๑ พ.ย.๒๕๕๖ เรื่อง แนวทางปฏิบัติการสอบสวนคดีอาญากรณีพิเศษบางประเภท
             (๓)  หนังสือที่ ตช. ๐๐๑๖/๕๐๓๑ ลง ๒๕ พ.ย.๒๕๔๖ เรื่อง การสอบสวนคดีอาญาในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
             (๔)  กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการกับพนักงานสอบสวน พ.ศ.๒๕๕๓

(Update : เมื่อ ๒๗ ส.ค.๒๕๕๘)