คดีวิสามัญฆาตกรรมและไม่ใช่คดีวิสามัญฆาตกรรม (ม.๑๕๐ วรรคสาม)
คดีวิสามัญฆาตกรรม หมายถึง คดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตาย ถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตายโดยเจตนาส่วนคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตาย ตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่และมีเจตนาฆ่า ไม่ใช่คดีวิสามัญฆาตกรรม
สำนวนการสอบสวนที่จะต้องดำเนินการ ประกอบด้วย
๑. สำนวนชันสูตรพลิกศพ ที่ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๐ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนตาม ป.วิ อ. มาใช้โดยอนุโลม)
๒. สำนวนคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย และคดีฆาตกรรมซึ่งผู้ตาย ตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
๓. สำนวนคดีที่กล่าวหาว่าผู้ตายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๓๘ อัยการจังหวัด ตาม ป.วิ อาญา ม.๑๔๓ เป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจาก สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตาม ป.วิ อาญา ม.๓๙ (๑) อัยการจังหวัดอาจจะรอการออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวิสามัญฆาตกรรมของอัยการสูงสุดก่อน
การทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ
การทำสำนวนคดีที่เจ้าพนักงานถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ และ มาตรา ๒๘๙ ซึ่งเจ้าพนักงานจะอ้างการป้องกันตัวตาม ป.อ. มาตรา ๖๘ และในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน เท่านั้น มีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๓ วรรคท้าย หากส่งให้อัยการจังหวัดฯ ออกคำสั่งย่อมไม่ชอบ ทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด หากเป็นการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ หรือประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑ เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม ไม่อยู่ในอำนาจอัยการสูงสุด หากแต่อยู่ในอำนาจอัยการจังหวัดฯถ้าหากในชั้นสอบสวน เจ้าพนักงานผู้ฆ่ามิได้เจตนาฆ่า แต่เจตนาทำร้ายร่างกาย หรือมิได้อ้างว่าตนปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แม้ความจริงเหตุที่ผู้ตายถูกฆ่านั้นเพราะต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานจึงฆ่าตายอันเป็นการฆ่าเพราะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ก็ตาม กรณีเช่นนี้ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่ต้องส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา คงส่งไปให้อัยการจังหวัดเท่านั้น เพราะในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานผู้นั้นมิได้อ้างว่าการฆ่าดังกล่าวได้กระทำไปตามการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เช่นนี้เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการจังหวัด ก็เป็นการชอบแล้ว แม้ภายหลังผู้มีอำนาจจัดการแทนจะยกเหตุดังกล่าวขึ้น ต่อสู้ในชั้นศาลว่า พนักงานสอบสวนไม่สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดจึงเป็นการไม่ชอบไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๐๐/๒๕๓๒)
การสอบสวนอาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงในข้อเท็จจริงและกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม ทั้งเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้กับฝ่ายผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ทำให้ตาย และฝ่ายผู้ตาย จึงให้พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ หากหน่วยงานใดไม่มีพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญให้ รอง ผบก. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้รับผิดชอบทำสำนวนการสอบสวน ทั้ง ๓ สำนวน ด้วยตนเองโดยเคร่งครัด และให้ ผบก.หรือผู้รักษาการแทนเป็นหัวหน้าพนักพนักงานสอบสวน ตาม ม.๑๘ วรรคสี่ และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ม.๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ในคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ของตน และให้ดำเนินการแจ้งพนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ม.๑๕๐ เมื่อสำนวนเสร็จให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ตร. เพื่อพิจารณา และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔ ต่อไป
ในกรณีคดีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวน ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๓ ข้อ ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดย ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๓๖ ข้อ ๔ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานรายละเอียดตามลำดับชั้น ถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใน ๗ วัน พร้อมทั้งความเห็นไปด้วย ตามคำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๓๖ ลง ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ถ้าปรากฏว่าฝ่ายปกครองได้เข้าควบคุมการสอบสวนแล้ว กรณีนี้ ได้มีหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส ๐๐๑๕/ว ๑๙๗ ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรม (คลิกที่นี่) ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติ เนื่องจากเห็นว่าการส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมเสนออัยการสูงสุดเมื่อพิจารณาสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๓ วรรคสาม ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าควบคุมการสอบสวนโดยเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนและเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕ วรรคท้าย และมาตรา ๑๔๐ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา
ส่วนคดีที่พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ อาจใช้อำนาจทำการสอบสวนและมีความเห็นทางคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๔๐ พนักงานสอบสวนนั้นก็จะเป็นผู้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาเองโดยตรง
ในการสอบสวนพนักงานอัยการต้องร่วมชันสูตรพลิกศพ ร่วมทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและการยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ตามลำดับ และต้องเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๕/๑ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด ได้วางแนวทางให้พนักงานการถือปฏิบัติตามหนังสือที่ อส ๐๐๒๓/ ว ๑๓๑ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง การเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและสำนวนสอบสวนและมีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำสำนวนการสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓ ความในข้อ ๕ กำหนดว่าหากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ตรงกันพนักงานอัยการอาจทำความเห็นของตนรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วยก็ได้ พนักงานอัยการจึงย่อมต้องตรวจสอบอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เพราะอาจเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ หากอัยการสูงสุดรับสำนวนไว้พิจารณาไม่ว่าจากผู้ใดย่อมส่งผลถึงอำนาจสั่งคดีของอัยการสูงสุด ถ้าพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจและไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ อาจทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ และถ้าหากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการจังหวัด อัยการพิเศษฝ่าย หรืออธิบดีอัยการ พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๒ แล้วแต่กรณี ให้ส่งสำนวนวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวคืนพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนเสนออัยการสูงสุดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๔๓ วรรค ๓
> ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือ
> ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ผู้ที่ร่วมชันสูตรพลิกศพ คือ
>> พนักงานอัยการ
>> พนักงานสอบสวน แห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่
- ให้ รอง ผบก. หรือ พงส.ผชช. ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ผบก. ที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้น ทำการสอบสวนด้วยตนเอง
- ให้ พงส. มีหน้าที่แจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพทราบ ก่อนการชันสูตรพลิกศพ
>> แพทย์
การร่วมกันทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ
- ให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
- ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน
- โดยให้ขอขยายเวลาออกไปยัง ผบก. ที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้น พร้อมกับแสดงเหตุขัดข้องที่การสอบสวนไม่แล้วเสร็จไปด้วย (คำสั่ง ตร.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖)
- ให้ ผบก. ที่รับผิดชอบการสอบสวนในเขตพื้นที่นั้น พิจารณาอนุมัติขยายเวลาได้ตามเหตุผลและความจำเป็น
- ให้ พงส. บันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้ง ไว้ในบันทึกการสอบสวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ
การทำคำร้องขอให้ศาลไต่สวน
เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว (มาตรา ๑๕๐ วรรคห้า)
- ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน- เพื่อให้ศาลทำการไต่สวน และทำคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
- ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่า ใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้
- ถ้ามีความจำเป็น ให้พนักงานอัยการขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน
- ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้ง ไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
- ในการปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ และทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ
การไต่สวน
๑. ในการไต่สวน ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และ- ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้อง และแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวน ให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายตามลำดับ อย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ ทราบก่อนวันนัดไต่สวน ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และ
- ให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
๒. เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และ
- ก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตาย มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และนำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย
- เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตาย มีสิทธิแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้
- หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้นเพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
- ในการชันสูตรพลิกศพ และการไต่สวน ในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้นำบทบัญญัติอันว่าด้วยการสอบสวน และการไต่สวนของศาลตามมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๓. เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (มาตรา ๑๕๔)
- ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติมหรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้ และ
- ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็น เพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง
- แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้นำสืบพยานหลักฐาน (ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย) ที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้ง หรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ (มาตรา ๑๕๐) ให้ถึงที่สุด
- แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
- เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป (นำเข้ารวมกับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาแล้วจึงสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง)
แพทย์ เจ้าพนักงานผู้ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตามมาตรานี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรา ๑๗๓
การทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ (มาตรา ๑๕๕/๑)
> ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือ
> ในกรณีที่ผู้ตายถูกกล่าวหาว่า ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
พนักงานสอบสวน
- เป็นผู้รับผิดชอบการทำสำนวนสอบสวน
- แจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวน ในการทำสำนวนสอบสวน นับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทำได้ (การแจ้ง อาจทําเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีที่แจ้งด้วยวาจา ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการแจ้งไว้ในสํานวนสอบสวนด้วย)
พนักงานอัยการ
- มีหน้าที่เข้าร่วมในการทําสํานวนสอบสวน
- อาจให้คำแนะนำ (โดยทําเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาก็ได้ ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหรือบันทึกคําแนะนําของพนักงานอัยการไว้ในสํานวนสอบสวน)
- ตรวจสอบพยานหลักฐาน (แจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบถึงความประสงค์จะตรวจสอบพยานหลักฐาน หรือเรียกให้พนักงานสอบสวนนําพยานหลักฐานมาให้ตรวจสอบก็ได้ โดยพนักงานอัยการต้องลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบพยานหลักฐานด้วย)
- ร่วมกับพนักงานสอบสวนในการถามปากคําผู้เสียหาย ผู้ต้องหา พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยพนักงานอัยการต้องลงลายมือชื่อในบันทึกคําให้การของบุคคลดังกล่าวด้วย
- ในกรณีที่พนักงานอัยการมีความประสงค์จะให้มีการถามปากคําบุคคลใด นอกเหนือจากบุคคลที่พนักงานสอบสวนจะถามปากคํา ให้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนดําเนินการ
- ตั้งแต่เริ่มการทำสำนวนสอบสวนนับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทำได้
- ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง (กฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทําสํานวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓)
✏ ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทําให้พนักงานอัยการไม่อาจเข้าร่วมในการทําสํานวนสอบสวนกับพนักงานสอบสวนได้
- ให้พนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบโดยเร็ว
- ในกรณีเช่นนี้ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุที่พนักงานอัยการไม่สามารถเข้าร่วมในการทําสํานวนสอบสวน และ
- ให้รอพนักงานอัยการเข้าร่วมในการทําสํานวนสอบสวน
✏ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันควร ไม่อาจรอพนักงานอัยการเข้าร่วมในการทำสำนวนสอบสวน
- ให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนต่อไปได้
- แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอพนักงานอัยการไว้ในสำนวน และถือว่าเป็นการทำสำนวนสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย
การดําเนินการนี้ หากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นไม่ตรงกัน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจทําความเห็นของตนรวมไว้ในสํานวนสอบสวนด้วยก็ได้