วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ลายมือเขียน

การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ ลายมือเขียน
การเตรียมเอกสารส่งตรวจพิสูจน์
                จัดส่งเอกสารของกลาง และเอกสารตัวอย่างที่เป็นต้นฉบับจริง ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถส่งต้นฉบับจริงได้ ให้ระบุสาเหตุที่ไม่สามารถส่งได้ในหนังสือนำส่ง (หนังสือนำส่งของกลางตรวจพิสูจน์ให้ทำตาม “แบบ กอส. ๐๑")
               ระบุเอกสารให้ชัดเจนว่า เอกสารใดเป็นเอกสารของกลาง และเอกสารตัวอย่าง และมีจำนวนกี่ฉบับ
               ระบุตำแหน่งของสิ่งที่ต้องการตรวจพิสูจน์ในเอกสารของกลางและจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจน เช่น กรณีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความ ให้ระบุว่า
               “ลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความ ตรงบริเวณ............ ในเอกสารของกลาง กับตัวอย่างลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความของ………… จะเป็นลายมือชื่อ/ลายมือเขียนข้อความของบุคคลคนเดียวกันใช่หรือไม่"
               หรือ กรณีการตรวจร่องรอยการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ระบุว่า
               “เอกสารของกลางตรงบริเวณ........... จะมีร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ ถ้ามีข้อความเดิมอ่านได้ว่าอย่างไร"
                จัดส่งเอกสารตัวอย่างเพื่อใช้ในการตรวจเปรียบเทียบกับเอกสารของกลาง ดังนี้
                -  จัดหาลายมือชื่อ หรือลายมือเขียนข้อความ ที่เคยเขียนไว้เดิม
                -  จัดหาลายมือชื่อหรือลายมือเขียนข้อความของบุคคลที่ต้องการตรวจพิสูจน์ ที่มีระยะเวลาของการเขียนใกล้เคียงกันกับเอกสารของกลาง
                -  ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นลายมือของบุคคลใด และอยู่ตรงบริเวณใดของเอกสาร
                -  จัดให้เจ้าของลายมือหรือบุคคลที่เชื่อถือได้ลงลายมือชื่อรับรองลงบนพื้นที่ว่างของเอกสารตัวอย่างทุกแผ่น
                -  จัดให้เขียนตัวอย่างลายมือชื่อหรือลายมือเขียนข้อความต่อหน้าพนักงานสอบสวน
                -  จัดเตรียมอุปกรณ์และลักษณะการเขียนให้ใกล้เคียงกับเอกสารของกลางให้มากที่สุด เช่น กระดาษ ปากกา ลักษณะการเขียนแบบหวัด แบบบรรจง ท่าทางการเขียน เป็นต้น
                -  จัดให้บุคคลที่ต้องการตรวจเปรียบเทียบ กรอกข้อมูลส่วนบุคคลด้วยตนเอง ลงใน "แบบ กอส.๐๒" โดยให้มีรายละเอียด ดังนี้
                (๑)  ชื่อ-ชื่อสกุล
                (๒)  อายุ และ วัน เดือน ปี เกิด
                (๓)  อาชีพ
                (๔)  ประวัติการศึกษา
                (๕)  ถนัดเขียนด้วยมือข้างใด และปัจจุบันใช้มือข้างใดเขียน
                (๖)  สามารถเขียนได้ทั้งมือซ้ายและมือขวาหรือไม่
                (๗)  มีโรคประจำตัวหรือไม่
                (๘)  เคยได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณมือข้างที่ถนัดหรือไม่ เมื่อใด
                (๙)  ท่านใช่ลายมือชื่อกี่แบบ(ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน) และให้เขียนตัวอย่างลายมือชื่อแต่ละแบบ แบบละ ๓ ตัวอย่าง
                -  จัดให้บุคคลที่ต้องการตรวจเปรียบเทียบ เขียนตัวอย่างลายมือชื่อแบบเดียวกันกับลายมือชื่อในเอกสารของกลาง หรือเขียนข้อความเดียวกันกับข้อความที่ต้องการตรวจพิสูจน์ (ให้เขียนตามคำบอก อย่าให้เห็นเอกสารของกลาง) ลงใน "แบบ กอส.๐๓" ประมาณ ๕-๑๐ หน้ากระดาษ
               -  จัดให้บุคคลที่เขียนตัวอย่าง และพนักงานสอบสวน ลงลายมือชื่อรับรองทุกแผ่น